เกริ่น


.........สวัสดีครับ ท่านผู้ชมที่เข้ามาเยี่ยมชมในบล็อกนี้
บล็อกนี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับ "ความเป็นครู" ในภาคเรียนที่ 1/2558ซึ่งเป็น
ระบบที่ทันสมัยโดยผสมผสานการเรียนรู้ในห้องเรียนปกติกับการเรียนรู้บนเว็บออนไลน์หรือบนเว็บบล็อก ซึ่งมีความสดวกสบายในการหาข้อมูลความรู้ได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเนื้อหานี้จะมีทั้งรูปภาพและเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นครู ยิ่งไปกว่านี้เรายังนำข้อมูลจากการค้นคว้าอย่างกว้างไกลมาตรวจสอบและเรียนรู้อย่างลึกซึ้งในห้องเรียนปกติหวังว่าบล็อกนี้จะมีประโยชน์แก่คนที่เข้ามาชมหรือศึกษาไม่มากก็น้อย

หน่วยที่ 9

การส่งเสริมและยกระดับวิชาชีพครู
การส่งเสริมและพัฒนาครู


ในสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏในปัจจุบัน วิชาชีพครูกลับเป็นวิชาชีพที่คนทั่วไปดูหมิ่นดูแคลน เป็นวิชาชีพที่รายได้ต่ำ ผู้ประกอบวิชาชีพครูยากจน ผู้ปกครองที่มีการศึกษาสูงและมีฐานะดี ไม่ประสงค์จะให้บุตรหลานของตนศึกษาเพื่อออกไปประกอบวิชาชีพครู เยาวชนที่สำเร็จการศึกษาชั้น ม. 6 ก็ไม่ประสงค์ที่จะสมัครเรียนในสาขาวิชาชีพครู ผู้สมัครเรียนในสาขาครูจึงมักเป็นผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ เมื่อไม่สามารถสอบเข้าเรียนในสาขาวิชาชีพอื่นได้แล้วจึงจะสมัครเรียนเพื่อออกไปเป็นครู
ปัญหาเกี่ยวกับวิชาชีพครูอาจสรุปได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการผลิต เช่น ปัญหาอันเนื่องมาจากตัวป้อนเข้าของกระบวนการ ผลิตครู กระบวนการเรียนการสอนนักศึกษาครู การกำหนดคุณลักษณะของบัณฑิตครู และการควบคุมให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามีคุณลักษณะตามที่กำหนด เป็นต้น
ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการใช้ครู เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนด้าน งบประมาณ การบำรุงขวัญกำลังใจครูดี การติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของชุมชนในการใช้ครู เป็นต้น
ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการเพื่อให้การผลิตและการใช้ครูเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล เช่น ปัญหาความด้อยประสิทธิภาพของผู้บริหาร การขาดระบบการตรวจสอบและประเมินผู้บริหารการไม่มีส่วนร่วมในการบริหารงานของท้องถิ่น การขาดแคลนทรัพยากรเพื่อการบริหาร รวมทั้งการขาดสถาบันพัฒนาผู้บริหารระดับมืออาชีพ เป็นต้น
1. ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการผลิต
สถาบันผลิตครูไม่สามารถผลิตครูให้มีคุณลักษณะตามที่สังคมต้องการได้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้การผลิตครูมีประสิทธิผลต่ำอาจสรุปได้ 5 ประการดังนี้
1. คนเก่งไม่เรียนครู เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า คนเก่ง ส่วนใหญ่ไม่สนใจเป็นครู จากข้อมูลการเลือกเข้าเรียนต่อของผู้สมัครสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ปี การศึกษา 2539 ผู้สมัครส่วนใหญ่จะเลือกคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เป็นอันดับสุดท้าย มีเพียงร้อยละ 19 ที่เลือกคณะครุศาสตร์เป็นอันดับ 1 และนักศึกษาครู มีผลการเรียนในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ จากข้อมูลเกรดเฉลี่ยในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของนักศึกษาครูในสถาบันราชภัฏ(ซึ่งเป็นสถาบันผลิตครูแหล่งใหญ่) พบว่า มีเกรดเฉลี่ย ประมาณ 2.3 (สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ, 2540) นอกจากนี้ นักศึกษาครูมักไม่เลือกเรียนวิชาเอกที่เป็นสาขาขาดแคลน เช่น สาขาทางด้านวิทยาศาสตร์ เพราะต้องใช้ความพยายามในการเรียนสูงกว่าสาขาวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ (สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ, 2540)
2. รัฐลงทุนเพื่อการผลิตครูต่ำ เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการผลิตบัณฑิตสาขาต่าง ๆ มีหลักฐานชัดเจนว่า รัฐลงทุนเพื่อการผลิตครูต่ำกว่าวิชาชีพอื่น ๆ มาก (สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ, 2540) สถาบันผลิตครูส่วนใหญ่ จึงมีปัญหาความขาดแคลนปัจจัยที่จำเป็นต่อการผลิตครู ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ขาดงบดำเนินการเพื่อพัฒนาคณาจารย์ และพัฒนาการเรียนการสอน นอกจากนี้ การผลิตครูดำเนินการโดยสถาบันของรัฐทั้งหมด ถึงแม้กฎหมายเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาผลิตครูได้ แต่ยังไม่มีเอกชนรายใดดำเนินการเพราะไม่คุ้มทุน
3. กระบวนการเรียนการสอนเน้นทฤษฏีมากกว่าเน้นการปฏิบัติจริง ถ้าพิจารณาจากหลักสูตรการผลิตครูจะพบว่าหลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบันเป็นหลักสูตรที่กำหนดจากส่วนกลางและผูกติดกับแนวคิดสากลมากกว่าท้องถิ่น เน้นทฤษฎีมากกว่าการปฏิบัติจริง เน้นองค์ความรู้มากกว่าวิธีแสวงหาความรู้ วิชาที่สอนเป็นแบบแยกส่วน ขาดความเชื่อมโยงและบูรณาการ มีผลให้ผู้เรียนไม่ได้พัฒนาทักษะและวิธีการมองปัญหาในเชิงองค์รวม กระบวนการเรียนการสอนเพื่อผลิตครูยังเน้นครูเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้มากกว่าการส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ รักที่จะเรียนรู้ อาจารย์ผู้สอนเป็นผู้กำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนและการวัดผลฝ่ายเดียว ผู้เรียนไม่มีส่วนร่วม และ ที่สำคัญการจัดการเรียนการสอนขาดการประสานสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของท้องถิ่นและชุมชน ทำให้นักศึกษาครูไม่สามารถเรียนรู้ และพัฒนาวิชาชีพครูให้เหมาะสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตของสภาพแวดล้อม ได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ สื่อ นวัตกรรม และแหล่งการเรียนรู้ในสถาบันผลิตครูไม่เอื้อให้นักศึกษาครู แสวงหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเอง การวัดผลและประเมินผลเน้นการสอบวัดเนื้อหาวิชาการมากกว่าการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ชี้นำแนวความคิดและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับการเป็นครูในอนาคต และที่สำคัญ หลักสูตรการผลิตครูไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อรองรับการผลิตครูรุ่นใหม่ซึ่งต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความพร้อมทั้งความรู้ในเนื้อหาวิชาการ ความสามารถในการชี้นำความรู้ มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และมีคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งสามารถปรับใช้เทคโนโลยีในวิชาชีพได้





แนวทางการส่งเสริมและยกระดับวิชาชีพครู

แต่ละคนเป็นครูมานานแล้ว แต่ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แจ้งให้คุณครูทุกท่านทราบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 – 2555 ได้กำหนดให้ดำเนินการพัฒนาผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง โดยมีขั้นตอนและแนวทางในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนี้
1. การพัฒนาครูและบุคลาการทางการศึกษา ตามโครงการยกระดับคุณภาพทั้งระบบ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 – 2555 ประกอบด้วยกิจกรรม 4 กิจกรรม คือ
1.1 การจัดระบบพัฒนาสมรรถนะครูรายบุคคล
1.2 พัฒนาครูดี ครูเก่ง เพื่อเป็น Master Teacher หรือ ครูแกนนำ
1.3 ยกระดับคุณภาพครู รวมทั้งผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน
1.4 พัฒนาครูด้วยระบบ E-training
2. ขั้นตอนแรกในการพัฒนา ครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนจะได้รับการประเมินสมรรถนะ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระบบพัฒนาสมรรถนะรายบุคคลและดำเนินการพัฒนาให้เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถและศักยภาพของแต่ละคนเพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักสูตร โดยผลของการประเมินสมรรถนะ มิได้มีผลเสียต่อการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะ การพิจารณาความดีความชอบ รวมทั้งมิได้มีผลเสียต่อสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับแต่อย่างใด
3. ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีผลการประเมินในระดับสูง จะได้รับการพัฒนาโดยหลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถาบันอุดมศึกษา กำหนดเพื่อให้เป็นแกนนำให้กับครู ตามกลุ่มสาระ และช่วงชั้น ในเขตพื้นที่การศึกษาที่สังกัด
4. ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีผลการประเมินในระดับปานกลางและระดับต้น จะได้รับการพัฒนาตามหลักสูตรเพื่อยกระดับคุณภาพให้เป็นครูดี ครูเก่ง มีคุณภาพ โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร่วมมือกับกลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพแต่ละระดับ ศูนย์พัฒนาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ และครูแกนนำ(Master Teacher ) โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถาบันอุดมศึกษาให้การสนับสนุนด้านวิชาการ
5. หลักสูตรในการประเมินสมรรถนะและการพัฒนา ประกอบด้วย 3 โมดุล
โมดุลที่ 1 ความรู้ตามเนื้อหาที่สอนรายกลุ่มสาระ
โมดุลที่ 2 สมรรถนะหลัก ประกอบด้วย การมุ่งผลสัมฤทธิ์
การบริการที่ดี การพัฒนาตนเอง และการทำงานเป็นทีม
โมดุลที่ 3 สมรรถนะประจำสายงาน ประกอบด้วย เทคนิคการสอน
การออกแบบการเรียนรู้ ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
การพัฒนาผู้เรียน ห้องเรียนคุณภาพ 5 ด้าน
การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์
ในระดับประถมศึกษา เน้นในเรื่องของทักษะการอ่านคล่อง เขียนคล่องและทักษะการคิดวิเคราะห์ จึงให้ครูในระดับประถมศึกษาเลือกประเมินและพัฒนาในสาระวิชาภาษาไทยและบูรณาการ หรือคณิตศาสตร์และบูรณาการ
ส่วนในระดับปฐมวัย มัธยมศึกษาตอนต้นโรงเรียนขยายโอกาส และมัธยมศึกษาตอนปลาย เลือกประเมินและพัฒนาตามกลุ่มสาระที่สอน
สำหรับวิธีการพัฒนาจะเป็นการพัฒนาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน จะจัดระบบให้มีการสร้างความเข้าใจในเบื้องต้นและดำเนินการพัฒนาควบคู่กับการเรียนการสอนในโรงเรียน จะไม่ทำให้เกิดปัญหานำครูออกนอกห้องเรียนเพื่อไปพัฒนายังหน่วยงานภายนอก
6. ในการประเมินสมรรถนะและพัฒนา ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำลังดำเนินงานประสานกับสถาบันอุดมศึกษาและเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการจัดทำแบบประเมินและหลักสูตรที่เหมาะสมกับการยกระดับคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา คาดว่าจะเริ่มดำเนินการประเมินสมรรถนะได้ในช่วงปลายพฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไป ส่วนการพัฒนาคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนธันวาคม 2552 และปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2552 (มีนาคม – พฤษภาคม 2553)





เกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู
มาตรฐานวิชาชีพครู

แนวทางการดำเนินงานที่กล่าวมาแล้วโดยเฉพาะ การควบคุม และรักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพ เป็นเรื่องที่เพิ่มจะกำหนดให้มีการดำเนินงานครั้งแรกในวิชาชีพครู โดยกำหนดให้มีการกำหนดมาตรฐาน
วิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพ
มาตรฐานวิชาชีพครู เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับ คุณลักษณะและคุณภาพที่พึงประสงค์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในการประกอบวิชาชีพครู โดยผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องนำมาตรฐานวิชาชีพเป็นหลักเกณฑ์ในประกอบ
วิชาชีพคุรุสภาซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพครู ตาม พ.ร.บ. ครู พ.ศ. 2488 ได้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพครู ไว้ 3 ด้าน กล่าวคือ
1. มาตรฐาน ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ
2. มาตรฐาน ด้านการปฏิบัติงาน
3. มาตรฐาน ด้านการปฏิบัติตน



มาตรฐานด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ กำหนดไว้ ดังนี้
1) วุฒิปริญญาตรีทางการศึกษาที่สภาวิชาชีพรับรอง หรือ
2) วุฒิปริญญาตรีทางวิชาการหรือวิชาชีพอื่น และได้ศึกษาวิชาการศึกษาหรือฝึกอบรม วิชาชีพทาง การศึกษา มาไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต
3) ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาที่สภาวิชาชีพรับรอง และผ่านการประเมินกาปฏิบัติการสอนตามเกณฑ์ที่สภาวิชาชีพกำหนด



มาตรฐานด้านการปฏิบัติงาน ได้แก่เกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู ที่สภาวิชาชีพ (คุรุสภา) กำหนด ประกอบด้วย 12 เกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้
มาตรฐานที่ 1 ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครูอยู่เสมอ
มาตรฐานที่ 2 ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน
มาตรฐานที่ 3 มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพ
มาตรฐานที่ 4 พัฒนาแผนการสอนให้สามารถปฏิบัติให้เกิดผลจริง
มาตรฐานที่ 5 พัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ
มาตรฐานที่ 6 จัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเน้นผลถาวรที่เกิดแก่ผู้เรียน
มาตรฐานที่ 7 รายงานผลการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างมีระบบ
มาตรฐานที่ 8 ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน
มาตรฐานที่ 9 ร่วมมือกับผู้อื่นในสถานศึกษาอย่างสร้างสรรค์
มาตรฐานที่ 10 ร่วมมือกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ในชุมชน
มาตรฐานที่ 11 แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา
มาตรฐานที่ 12 สร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ทุกสถานการณ์



มาตรฐานด้านการปฏิบัติตน ได้แก่ตามจรรยาบรรณครู ที่สภาวิชาชีพ (คุรุสภา) กำหนด ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ ดังนี้
1) ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือส่งเสริมกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า
2) ครูต้องอบรมสั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะ และนิสัยที่ครูต้องดีงามให้เกิดแก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
3) ครูต้องประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ ทั้งกาย วาจา และจิตใจ
4) ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์
5) ครูต้องไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและไม่ใช้ศิษย์กระทำการใด ๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ
6) ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ
7) ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู
8) ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครู และชุมชนในทางสร้างสรรค์
9) ครูพึงประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย



มาตรฐานวิชาชีพครู จะเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิ ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานวิชาชีพครู ดังกล่าวข้างต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น